ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) คือกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ สัมพันธ์กับตำแหน่งในแผนที่ เป็นต้น ข้อมูลและแผนที่ใน GIS เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในรูปของตารางข้อมูลที่มีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลายจะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS และทำให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาได้ เช่น การขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปลความและสื่อความหมายได้ง่ายขึ้น

ชนิดของข้อมูล

ข้อมูล (Data) เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยข้อมูลเหล่านี้ได้รับการรวบรวม จัดเก็บ ปรับปรุง แก้ไข และจัดการไว้ในฐานข้อมูล เพื่อให้พร้อมที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ หรือทำแบบจำลองต่างๆ โดยจัดเก็บอย่างเป็นระบบตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ซึ่งข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ข้อมูล Vector

เป็นข้อมูลที่แสดงโดยมีการกำกับตำแหน่งที่ตั้งของข้อมูลต่าง ๆ บนพื้นโลก (Spatial Data) หรือเรียกในภาษาแผนที่ว่าค่าพิกัด การเก็บข้อมูลจะอยู่ในรูปของค่าพิกัดและการเชื่อมโยงของแต่ละค่าพิกัด โดยข้อมูล vector สามารถแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้ 3 รูปแบบ คือ

  • จุด (Point) ใช้แสดงข้อมูลที่เป็นลักษณะของตำแหน่งที่ตั้ง ได้แก่ ที่ตั้งอาคาร บ้านเรือน หมุดหลักเขตประทานบัตร เป็นต้น
  • เส้น (Line) ใช้แสดงข้อมูลที่เป็นลักษณะของเส้น เช่น ถนน แม่น้ำ ทางด่วน เป็นต้น
  • พื้นที่ (Polygon) ใช้แสดงข้อมูลที่เป็นลักษณะของพื้นที่ เช่น พื้นที่ขอบเขตการปกครอง ขอบเขตประทานบัตร เป็นต้น

สำหรับการใช้งาน GIS โดยทั่วไป ข้อมูล vector จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลตารางอธิบาย (Non-Spatial Data หรือ Attribute Data) สำหรับอธิบายถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ในแต่ละข้อมูล ตัวอย่างเช่น แปลงประทานบัตร จะมีข้อมูลเลขแปลงประทานบัตร ชื่อผู้ถือประทานบัตร วันที่อนุญาต วันหมดอายุ และประเภทเหมือง เป็นต้น

2. ข้อมูล Raster

เป็นข้อมูลที่มีโครงสร้างเป็นช่องเหลี่ยม เรียกว่า จุดภาพ หรือเซลล์ตาราง ที่เรียงต่อเนื่องกันทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ในแต่ละจุดภาพสามารถเก็บค่าได้ 1 ค่า ความละเอียดของข้อมูลขึ้นอยู่กับขนาดของเซลล์ ณ จุดพิกัดนั้น ๆ โดยข้อมูล raster สามารถแปรรูปมาจากข้อมูลเชิงทิศทาง หรือแปรเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงทิศทางได้ แต่มักเกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างการแปรรูปข้อมูล ตัวอย่างข้อมูล raster ได้แก่ ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ และแบบจำลองความสูงเชิงเลข (DEM) เป็นต้น

Next