อากาศยานไร้คนขับกับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่

อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle, UAV) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Drone เป็นเทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปอย่างมากมายในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การใช้โดรนในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือการถ่ายทอดสถานการณ์ข่าว รวมถึงการใช้อากาศยานไร้คนขับในภารกิจตามยุทธวิธีทางการทหาร เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับได้เข้ามาสนับสนุนในงานตรวจสอบและกำกับดูแลเหมืองแร่ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานบริเวณพื้นที่อันตราย เช่น บริเวณหน้าผาสูงชัน ในบ่อเหมืองที่มีการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในการตรวจสอบและกำกับดูแลเหมืองแร่ได้เป็นอย่างมาก

อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนติดกล้องสำหรับจัดทำแผนที่ทางอากาศ

ข้อมูลหลักที่ได้จากงานรังวัดด้วยอากาศยานไร้คนขับ ที่ใช้สำหรับภารกิจการตรวจสอบและกำกับดูแลเหมืองแร่ จะประกอบด้วย

  1. ภาพถ่ายทางอากาศแนวดิ่ง (Orthophoto) ซึ่งเป็นภาพที่ได้จากการประกอบกัน (mosaic) ของภาพถ่ายทางอากาศจำนวนมากให้กลายเป็นภาพผืนเดียวครอบคลุมพื้นที่การปฏิบัติงาน เหมาะสำหรับการสร้างแผนที่เพื่อตรวจสอบขอบเขตพื้นที่การทำเหมือง
  2. แบบจำลองข้อมูลภูมิประเทศ (Digital Elevation Model, DEM) ซึ่งเป็นข้อมูลสามมิติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการทำแผนที่อ้างอิงความสูงและใช้ในการคำนวณปริมาตรพื้นดินที่ถูกขุดตักจากการทำเหมืองแร่ เป็นต้น
การใช้ข้อมูล DEM เพื่อจัดทำแผนที่แสดงความสูง-ต่ำและตรวจสอบความลาดชัน (slope) ของบ่อเหมือง

การใช้อากาศยานไร้คนขับในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่นั้น นับได้ว่าเป็นการพัฒนากระบวนงานตามแนวทาง Thailand 4.0 เนื่องจากเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดย กพร. ได้เริ่มนำร่องการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เพื่อจัดทำข้อมูลรังวัดภูมิประเทศพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ทั่วประเทศ ได้ผลแล้วกว่า 250 แปลง และได้ขยายผลไปสู่การกำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วประเทศรายงานข้อมูลการทำเหมืองด้วยอากาศยานไร้คนขับ 1 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สู่ภาคเอกชน ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความโปร่งใส เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มีความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน


  1. กพร. กำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วประเทศรายงานข้อมูลการทำเหมืองด้วยอากาศยานไร้คนขับ ↩︎

Related